อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชจังหวัดเชียงราย

พ่อขุนเม็งรายเป็นโอรสของพญาลาวเม็งแห่งราชวงศ์ลัวะ จังคราช 
กษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง 
ประสูติเมื่อ วันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เอกศกจุลศักราช 601 
ตรงกับพุทธศักราช 1782 และเสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1854 
รวมพระชนมายุได้ 72 พรรษา พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง 
จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อปี พ.ศ. 1805 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ 
แห่งราชวงศ์มังราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณา
จักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ประดิษฐานอยู่บริเวณห้าแยกพ่อขุน อ.เมืองเชียงราย 
โดยประชาชนชาวเชียงรายร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2507 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 80,000 บาท 
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนเม็งราย ปั้นโดย นายปกรณ์ เล็กฮอน 
ลักษณะของอนุสาวรีย์คือ เป็นพระรูปของพระองค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ 
ขนาดเท่าครึ่ง ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ล้านนาโบราณ
 ประทับยืนบนฐานสูงประมาณ 3 เมตร ทรงถือดาบด้วยพระหัตถ์ซ้ายแนบกับพระเพลา 
ทรงสวมาลัยพระกร ทรงสวมธำมรงค์ที่พระหัตถ์ขวาตรงนิ้วนางและนิ้วก้อย 
ที่พระหัตถ์ซ้ายตรงนิ้วชี้ และทรงฉลองพระบาท ปัจจุบันมีตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติประดับ
อยู่ทางด้านหลังอนุสาวรีย์ด้วย และที่ตรงฐานใต้พระบรมรูปมีคำจารึกว่า 
"พ่อขุนเม็งรายมหาราช พ.ศ.1782 - 1860 ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้น
เป็นเมืองแรกเมื่อ พ.ศ. 1805 ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาไทยให้เป็น
ปึกแผ่น และทรงสร้างความสามัคคีระหว่างชนชาติไทย "

ตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ 
ซึ่งนับว่าเป็นวาระอันมงคลยิ่ง พสกนิกรชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่าและเผ่าพันธุ์ได้รวมใจกัน
เฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันหาที่สุดมิได้ ต่อพสกนิกรชาวเชียงรายและชาวไทย 
จึงพร้อมใจกันจัดสร้างตุงทองคำเพื่อน้อมเกล้าน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
จำนวน ๒ ตุง และตุงหลวงจำนวน ๑ ตุง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสจังหวัดเชียงราย
สถาปนาได้ ๗๓๗ ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติของกระทรวงมหาดไทย 
ภายใต้การนำของนายวิจารณ์ ไชยนันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในสมัยนั้น 
ได้รับความร่วมมือร่วมใจ จากประชาชนชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า เผ่าพันธุ์ เป็นอย่างดียิ่ง 
ซึ่งตุงผืนที่ ๑ ออกแบบโดย นายถวัลย์ ดัชนี ผืนที่ ๒ ออกแบบโดย นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ 
ตุงหลวง ออกแบบโดย นายกนก วิศวกุล ผู้ออกแบบได้ศึกษาและผสานความคิดสอดคล้องกัน
กับชาวเชียงรายผนวกกับความจงรักภักดี จังมีความหมายและเกิดรูปแบบดังต่อไปนี้

ตุงผืนที่ ๑ 
ออกแบบโดย นายถวัลย์ ดัชนี
รูปแบบตุง มีลักษณะเป็น จลนะภาพ คือการแสดงออกถึงพลังแห่งการเคลื่อนไหว 
อิสระเบ่งบานในการรังสรรค์ที่มิได้ยึดรูปแบบดั้งเดิม หากแต่ยังไว้ซึ่งศักยภาพในด้านเนื้อหา 
ปรัชญาศรัทธา และสัญลักษณ์อันเปี่ยมด้วยความหมายของกษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ โดยใช้รูปแบบ
ของนารายณ์ทรงครุฑ อันเป็นพระราชลัญจกรของรามาวตาร พระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระราม 
รูปพระนารายณ์สี่กรทรงตรี คธา จักร และสังข์ ประทับยืนบนครุฑ ช้างเอราวัณสามเศียร 
หมายถึง สวรรค์ชั้นดุสิต ที่สถิตของพระอินทร์ และพระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ 
อยู่บนฐานปัทม์ ดอกบัวเสี้ยงเดือนรูปปิ่นพระศิวะ และกระต่ายแทนปีพระราชสมภพ 
และเป็นสัญลักษณ์ของ ศศิธรประภามณฑลของพระอิศวร ตามปกิรนัมตรีมูรติ 
จิตรกรแทนหกรอบพระชันษา โดยใช้ชื่อสัตว์หิมพานต์ทั้งหก อันมีช้างเอราวัณ ครุฑ 
นาค นรสิงห์ คชสีห์ และกระต่าย นับได้ว่าเป็นงานรังสฤษฎ์ที่สมบูรณ์ด้วยรูปแบบ 
เปี่ยมด้วยความหมาย ทรงพลังและเข้มขลังด้วยศรัทธาความรัก

ตุงผืนที่ ๒
ออกแบบโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
เป็นตุงแห่งความจงรักภักดีของชาวเชียงรายและปวงประชาไทย น้อมเกล้าถวายบูชาองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แสดงออกด้วยรูปแบบที่บ่งบอกถึง
”จากแผ่นดิน - สู่แผ่นฟ้า”ดิน หมายถึง รูปทรงล่างสุดของตุง ที่มีสัญลักษณ์รูปช่างอันเป็น
ตราประจำจังหวัดเชียงรายโอบอุ้มขึ้นไปสู่รูปทรงที่ปรากฏเป็นภาพประชาชนชาว
เชียงรายถวายเครื่องสูง เพื่อน้อมถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 
ในบรรยากาศของขุนเขาดอยนางนอน และองค์พระธาตุดอยตุง 
เหนือจากดอยตุงเป็นภาพพญาครุฑ อันเป็นพาหนะของพระนารายณ์ 
ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ หลังของพญาครุฑเป็นรัศมี
ที่โอบอุ้มมี ๑๐ องค์ หมายถึง การปกครองด้วยทศพิธราชธรรม 
เหนือพญาครุฑเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ มีเปลวกนกที่หมายถึงพระเมตตา 
รองรับพญานาค ซึ่งหมายถึงพระบารมีที่ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชน ดอกบัว
และแสดงถึงทรงเป็นนักปฎิบัติธรรมแตกฉานในพระธรรมอย่างลึกซึ้ง 
บนสุดเป็นตราสัญลักษณ์ 6 รอบ ล้อมด้วยเปลวกนกที่โพยพุ่งไปสู่ความสว่าง คือ พระนิพพาน

ตุงผืนที่ ๓ 
ออกแบบโดย นายกนก วิศวะกุล 
ภาพโดยรวมของตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ แสดงออกถึงพลังแห่งความสงบนิ่งและมั่นคง
พลังแห่งความจงรักภักดี พลังแห่งความเคารพศรัทธายิ่ง ของเหล่าพสกนิกรชาวไทย 
ที่น้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช 
เนื่องจากตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ จะได้จัดสร้างไว้ที่จังหวัดเชียงรายในโอกาสข้างหน้า 
เพื่อร่วมฉลองเมืองเชียงรายที่สถาปนามาได้ ๗๓๗ ปี ดังนั้น รูปแบบด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม 
จึงต้องคำนึงถึงหลักภูมิทัศน์ที่มีความสอดคล้องกลมกลืนอย่างสงบ มั่นคงและสง่างาม













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น